Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

พอเพียงกับโลกาภิวัตน์ไปด้วยกันได้หรือไม่


การประกาศนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศภายใต้คณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้สร้างความกังขาให้แก่นักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยด้วย ความกังขานี้ มิได้หมายถึงความกังขาว่ารัฐบาลชุดนี้จะดำเนินนโยบายตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้จริงหรือไม่ แต่เป็นความกังขาที่เกิดจากความไม่เข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคนกลุ่มนี้เอง ที่คาดไปในทำนองว่า ประเทศไทยจะหยุดการเจริญเติบโตแล้วหรือไร การลงทุนต่างๆ จะหยุดชะงักหรือชะลอตัวลงหรือไม่ คนไทยจะต้องไปประกอบอาชีพการเกษตรเช่นนั้นหรือ

ความไม่เข้าใจประกอบกับการละเลยไม่พยายามที่จะศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างถ่องแท้ ก่อให้เกิดการตีความโดยอาศัยความรู้เท่าที่มีของตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ล้วนแต่ทำให้เกิดการสื่อความที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ความจริงที่ว่านี้ ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวในการพัฒนาและบริหารประเทศที่ส่งเสริมให้โลกาภิวัตน์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ความพอเพียง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน

ความพอเพียงนี้ จะต้องอาศัยเงื่อนไขของความรอบรู้พร้อมด้วยเงื่อนไขของคุณธรรมเป็นปัจจัย เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลและความพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

คำว่า โลกาภิวัตน์ ที่หลายคนมักเขียนผิดเป็น โลกาภิวัฒน์ มาจากคำว่า โลก รวมกับ อภิ ซึ่งแปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง และคำว่า วตฺตน ซึ่งแปลว่า ความเป็นไป โลกาภิวัตน์ จึงหมายถึง การดำเนินไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย แต่หากใช้คำว่า โลกาภิวัฒน์ (ซึ่งประกอบจากคำว่า วฑฺฒน ซึ่งแปลว่า ความเจริญ) จะมีความหมายว่าเป็นความเจริญอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบในทำนองที่อาจเข้าใจว่าเป็นไปในแง่ดีด้านเดียว ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

กระแสโลกาภิวัตน์ มิได้ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในแง่เดียว แต่ในอีกแง่หนึ่งยังทำให้เกิดความเสื่อมถอยตกต่ำทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรรมจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันโลกโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบ และความระมัดระวังในการวางแผนและการดำเนินงานทุกขั้นตอน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาและบริหารประเทศที่อาจสุดโต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงการมีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง สร้างการเจริญเติบโตอย่างมีลำดับขั้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งทางกายภาพและทางจิตใจควบคู่กัน

หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงจึงมิได้ขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้าม กลับไปส่งเสริมให้กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการยอมรับมากขึ้น ด้วยการเลือกรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในแง่ดีต่อประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ไม่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อจำกัดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายหรือไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศ ทำให้การพัฒนาและบริหารประเทศยังคงดำเนินต่อไปได้

การพิจารณาว่าสิ่งใดควรรับหรือสิ่งใดไม่ควรรับภายใต้การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มิใช่การจำนนต่อสภาพของโลกาภิวัตน์ ที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็มิใช่การปฏิเสธแบบหัวชนฝาว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ทั้งหมด หนทางที่จะพิจารณาเช่นนี้ได้ ผู้บริหารประเทศและประชาชนในประเทศจำต้องมีความสามารถในการพิจารณาเหตุและผล นั่นคือ การรู้ถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการรู้ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการกระทำนั้นๆ อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นน้อยที่สุด ความสามารถในการพิจารณาเหตุและผลนี้ จะต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรมที่พรั่งพร้อมในตัวของผู้บริหารประเทศและประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ

การที่รัฐบาลประกาศธงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นของก้าวแรกที่ถูกทิศถูกทาง และเมื่อพิจารณาจากบุคคลส่วนใหญ่ในคณะรัฐบาล ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า นโยบายดังกล่าวน่าจะได้รับการแปลงไปสู่การปฎิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและในทิศทางที่ถูกต้อง ต่างกับรัฐบาลในชุดผ่านๆ มา ที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในแบบวจีบรม (Lip-Service) ซึ่งหาแก่นสารมิได้

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ในแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ยังต้องได้รับการถ่ายทอดเป็นแผนงาน (Plan) วิธีการดำเนินงาน (Strategy) และการปฏิบัติ (Execution) ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ มิฉะนั้นแล้ว การอภิวัตน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็อาจส่งผลกระทบในแง่ที่ไม่พึงปรารถนาก็เป็นได้


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์