เมกะโปรเจคเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่
การที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจค ทั้งโครงการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับชานเมือง โครงการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และโครงการจัดการระบบน้ำตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนและการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง นับเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการพัฒนาและบริหารประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ตามที่นักธุรกิจหลายคนเข้าใจว่าการลงทุนต่างๆ จะหยุดชะงักหรือชะลอตัวลง
สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันระหว่างการใช้นโยบายประชานิยมตามวิถีของทุนนิยม กับการใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ คือ การพิจารณาประโยชน์ในการลงทุนตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จะเน้นที่ประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของคนส่วนน้อย มิใช่การสร้างโครงการโดยเริ่มพิจารณาที่ตนเองหรือพวกพ้องว่าจะได้อะไรก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยพิจารณาประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นอันดับรอง และประการสำคัญการลงทุนตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงจะยึดหลักของความ “คุ้มค่า” มากกว่าความ “คุ้มทุน” ซึ่งหากพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป อาจะถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนหรือไม่คุ้มทุนของรัฐ แต่ได้ผลเป็นความอยู่ดีมีสุขของประชาชนส่วนใหญ่ที่ตีเป็นมูลค่าไม่ได้ ดังพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏในพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ มีใจความว่า
เมื่อประมาณ ๑๐ วันก่อน มีชาวต่างประเทศมาขอพบ เพื่อขอโอวาทเกี่ยวกับการปกครองประเทศว่าจะทำอย่างไร จึงได้แนะนำว่า ให้ปกครองแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหมือนกับคนที่ทำตามวิชาการที่เวลาปิดตำราแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกเริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเราใช้ตำราแบบอะลุ้มอล่วยกันในที่สุดได้ก็เป็นการดี ให้โอวาทเขาไปว่า “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่ แต่เราอธิบายได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้น เป็นการได้ทางอ้อม ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือ เงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ก็ต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่น ล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้รักสามัคคี รู้ว่าการเสียคือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้
หลัก “การไม่ติดตำรา” มีความหมายว่า ไม่ควรนำเอาทฤษฎีหรือหลักวิชาการของผู้อื่นมาดำเนินการโดยปราศจากการพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยสติปัญญาและความรู้ของตนเองว่าเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของปัญหาผู้คนและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด นักวิชาการชั้นสูงที่ได้รับการศึกษามาจากตะวันตก มักจะนำแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ มาใช้กับประเทศไทยโดยไม่รอมชอมและไม่พิจารณาถึงความแตกต่างในด้านต่างๆ ให้รอบคอบ ในที่สุดก็มักจะประสบความล้มเหลวหรือไม่บังเกิดผลดีอย่างเต็มที่ และทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง
หลัก “ขาดทุนคือกำไร” หรือ “Our loss is our gain” มีความหมายว่า การดำเนินโครงการใดก็ตาม ให้ยึดผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ความ “คุ้มค่า” มากกว่า “คุ้มทุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือการพิจารณา “Cost–Effectiveness” มากกว่า “Cost–Benefit ratio” โดยให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาที่เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าผลสำเร็จที่เป็นตัวเลขอันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนน้อย
นอกเหนือจากหลักการที่ทรงพระราชทานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชทานตัวอย่างในการลงทุนและบริหารโครงการขนาดใหญ่ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
เขื่อนป่าสักนี้เริ่มต้นด้วยเป็นกิจการของกรมชลประทาน แต่ว่าให้กรมชลประทานแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็จึงต้องรวบรวมกำลังและกลายเป็นกิจการของรัฐบาลเป็นส่วนรวม เป็นกิจการที่ใช้เงินเกิน ๒ หมื่นล้าน เป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อย แล้วทำไมมาทำ แต่ที่สนับสนุนให้ทำ เพราะว่าเขื่อนป่าสักมีประโยชน์มาก แม้จะยังไม่ได้ส่งน้ำสำหรับการเกษตรแท้ๆ แต่ว่าได้ทำประโยชน์ บอกไว้แล้วโครงการป่าสักมีไว้สำหรับน้ำแห้ง และมีไว้สำหรับน้ำเปียก น้ำมากน้ำเกินมันก็เปียก ทำให้มีความเสียหาย เสียหายทั้งทางเกษตรคือถ้าสิ่งที่เพาะปลูก ถูกน้ำท่วมก็เน่า เมื่อเน่าแล้ว เจ้าของคือเกษตรกรก็ไม่มีรายได้ ต้องช่วยเขา เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย เสียหายมาก ในด้านอื่น ในกรุง ในเมืองก็มีน้ำมาก ไม่ได้ประโยชน์ ก็ล้นมาท่วมถนน การจราจรติดขัด ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักเสียหาย ความเสียหายเหล่านี้หลังคำนวนดู หมื่นล้าน เมื่อปี ๒๖ รัฐบาลต่างๆ ในระยะโน้นต้องมีงบประมาณไปช่วยเกษตรกร งบประมาณสูบน้ำออกจากถนน ออกจากกรุงคิดแล้วเป็นเงินก็ประมาณหมื่นล้าน แต่ความเสียหาย อย่างอื่นเป็นมลพิษ คือเครื่องที่สูบก็ต้องใช้น้ำมันหรือถ้าไม่ได้ใช้น้ำมัน ก็ต้องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้าต้องผลิตด้วยเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ เช่น มีน้ำมันหรือลิกไนต์ ทำมลพิษมากก็เสียหายทับถมไปอีก มันเกินหมื่นล้าน ถ้านับดูปีนี้ที่น่าจะมีความเสียหายหมื่นล้าน ไม่ต้องเสีย ที่ไม่ต้องเสียนี้ก็ทำให้เกิดมีผลผลิต โดยเฉพาะอย่างเกษตร เขามีผลผลิตได้ แม้จะปีนี้ ซึ่งเขื่อนยังไม่ได้ทำงานในด้านชลประทาน ก็ทำให้ป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ ก็เป็นเงินหลายพันล้าน ฉะนั้นในปีเดียวเขื่อนป่าสักนี้ได้คุ้มแล้ว คุ้มค่าที่ได้สร้าง ๒ หมื่นล้านนั้นค่าสร้างตัวเขื่อนและส่วนประกอบต่างๆ ไม่ถึงพันล้าน หมายความว่ากิจการเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ก็พอเพียงเพราะว่าถ้าทำแล้ว คนอาจจะเกี่ยวข้องกับกิจการนี้มากมาย ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์และจะทำให้เจริญ
อีกข้อหนึ่งการที่สร้างเขื่อนป่าสักนี้ เป็นกิจการที่กว้างขวาง ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงาน เป็นการร่วมมือระหว่างคนหลายจำพวก หลายอาชีพ ถ้ากิจการที่ทำนี้ไม่มีนโยบายที่แน่วแน่ที่สอดคล้องกัน มัวแต่ทะเลาะกัน ไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิด เมื่อไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิด ป่านนี้เราจะจนลงไป เงิน ๒ หมื่นล้านที่ไปลงกับการสร้างนั้นก็หมดไปแล้ว หมดไปโดยไม่มีประโยชน์ หมดไปโดยได้ทำลาย เพราะว่าเดือดร้อน เกษตรกรเดือดร้อน ชาวกรุงเดือดร้อน ฉะนั้นต้องมีเหมือนกัน โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่ต้องมีการสอดคล้องกันดี ที่ไม่ใช่เป็นแต่เหมือนทฤษฎีใหม่ ๑๕ ไร่ แล้วก็สามารถจะปลูกข้าวพอกิน นี่ใหญ่กว่า แต่อันนี้ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสัก คนนึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง
จากพระราชดำรัสจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจค เป็นกิจการที่จัดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์และทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ดังนั้น การพัฒนาและบริหารประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงมิได้ทำให้ประเทศไทยหยุดการเจริญเติบโต หรือ ถอยหลังเข้าคลอง ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์