Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ดัชนีความสุขแบบไหนถึงจะดี


การหยิบยกประเด็นเรื่องดัชนีความสุขมาเป็นเครื่องชี้วัดสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น กำลังเป็นที่สนใจต่อประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองและอยากจะเห็นประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม

สาเหตุที่มีการพูดถึงดัชนีวัดความสุข ซึ่งขณะนี้มีอยู่ด้วยกันหลายคำ อาทิ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ความสุขมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness: GDH) ดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Happiness Index: GHI) และล่าสุดกำลังมีการพัฒนาเป็น ความสุขมวลรวมนานาชาติ (Gross International Happiness: GHI) ก็เนื่องจากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจหลักในเศรษฐศาสตร์มหภาค ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการสำหรับใช้วัดระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อาทิ การไม่ได้รวมต้นทุนหรือค่าเสียหายจากการผลิตของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ในการคำนวณ ตัวเลขจีดีพีมิได้รวมสินค้าและบริการบางอย่างที่ไม่อยู่ในระบบตลาด ได้แก่ การผลิตในครัวเรือน (เช่น การทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และการเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำโดยแม่บ้าน) หรือผลตอบแทนในรูปของอรรถประโยชน์ที่ไม่สามารถวัดค่าเป็นตัวเงินได้ ซึ่งถูกจัดว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) และที่สำคัญตัวเลขจีดีพีมิได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ประชาชาติ ที่แม้ตัวเลขจีดีพีจะเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศยากจนลง เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปกระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยเพียงกลุ่มเดียว

การพัฒนาดัชนีความสุขเพื่อเป็นดัชนีทางเลือกในการใช้เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม นับเป็นความพยายามที่ดี และมีกระแสตอบรับจากประชาชนในหลายประเทศ ซึ่งนอกจากจะไปลดข้อจำกัดต่างๆ ของดัชนีจีดีพีแล้ว ดัชนีความสุขยังได้ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยเหตุผลทางเทคนิคในการวัดค่าความสุขที่เป็นนามธรรม และยังมีนิยามที่แตกต่างกันอยู่ จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการพัฒนาดัชนีความสุข และไม่ทำให้กลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนาตามแนวคิดในแบบตะวันตก ที่มุ่งความเจริญทางด้านวัตถุด้านเดียว

ความสุขที่ควรจะนำมาพิจารณาในดัชนีความสุข ต้องเป็นความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการของมนุษย์ด้วยคุณค่าแท้ ซึ่งเป็นคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่สนองความต้องการสุขภาวะโดยตรง เพื่อให้เกิดความดีงามแก่ชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น คุณค่าชนิดนี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องวัด เรียกว่าเป็นคุณค่าที่สนองปัญญา เป็นคุณค่าในการใช้สอยหรือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เช่น อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี มีกำลังเหมาะที่จะปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือรถยนต์มีคุณค่าอยู่ที่ช่วยในการเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว เกื้อกูลต่อการปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นต้น

ส่วนความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการของมนุษย์ด้วยคุณค่าเทียม หรือคุณค่าพอกเสริม หมายถึง คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อขยายเสริมความมั่นคงยิ่งใหญ่ของอัตตาที่ยึดถือไว้ คุณค่าชนิดนี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องวัดคุณค่า เรียกว่าเป็นคุณค่าที่สนองตัณหาและมานะ เช่น อาหารที่มีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน เป็นเครื่องแสดงฐานะความโก้หรูหรา หรือรถยนต์ที่มีคุณค่าเป็นเครื่องแสดงฐานะ แสดงความโก้มั่งมี มุ่งอวดความเด่นความสวยงามตามค่านิยม เป็นต้น กรอบแนวคิดเรื่องคุณค่าในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณค่าเทียมที่เกิดจากความต้องการในลักษณะของตัณหาที่มนุษย์เสริมแต่งให้พอกพูนมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายของดัชนีความสุข จึงควรมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสุขที่สงบเย็น มิใช่ความสุขพอกเสริมหรือความพึงพอใจที่เกิดจากการได้สนองตัณหา และพิจารณาว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดความสุขที่สงบเย็นนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ (Means) มิใช่เป็นที่หมาย (End) ผลลัพธ์ในทางเศรษฐศาสตร์มิใช่จุดหมายของมนุษย์ แต่เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาจิตของมนุษย์ให้สูงขึ้นในระดับต่อไป เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของปัจเจกบุคคลและสังคมในที่สุด


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์