พอเพียง วัดกันที่ตรงไหน
พูดถึงคำว่าพอเพียงกับการดำเนินชีวิต หรือความเป็นอยู่อย่างพอเพียง หลายท่านคงจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วอย่างไรล่ะถึงจะเรียกว่าอยู่อย่างพอเพียง หรือแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอประมาณ เอาเกณฑ์อะไรมาวัด พอเพียงของฉันกับพอเพียงของเธอต้องเท่ากันหรือไม่
เทคนิคอย่างหนึ่งในการตอบคำถามลักษณะว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นหรือไม่เป็นนี้ ก็คือดูว่า อะไรที่ไม่ใช่บ้าง อะไรที่ไม่เป็นบ้าง การเห็นสิ่งที่ไม่ใช่หรือสิ่งที่ไม่เป็นชัดเจนมากเท่าใด ก็จะสามารถรู้และเข้าใจสิ่งที่ใช่ หรือสิ่งที่เป็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
การตั้งคำถามใหม่ว่า การอยู่อย่างไรถึงเรียกว่าไม่พอเพียง อาจจะทำให้ตอบได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม การพิจารณาว่าพอหรือไม่พอนั้น เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่สัมพันธ์กัน หรือระหว่างการกระทำที่สัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องร่างกาย คือการกินการถ่ายสมดุลกันหรือไม่ กินมากไปโดยไม่ถ่ายหรือถ่ายน้อยก็มีปัญหา เกิดการสะสมของเสียเกิดโรค กินน้อยไปหรือไม่กินเลยขณะที่ร่างกายต้องถ่ายของเสียตามปกติ ก็มีปัญหา ร่างกายอ่อนแอขาดภูมิคุ้มกันโรค (ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็นการถ่ายหนักถ่ายเบา แต่ยังรวมการถ่ายของเสียทางเหงื่อ ทางลม ทางความร้อน ตามธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ) หรือถ้าเป็นในเรื่องเศรษฐกิจ คือการเปรียบเทียบปริมาณหรือมูลค่าการผลิตและการบริโภค ว่ามีผลผลิตพอต่อการบริโภคหรือไม่ หรือมีรายรับที่ได้จากการจำหน่ายผลผลิตพอต่อรายจ่ายที่ต้องใช้บริโภคหรือไม่
จะเห็นว่าความไม่พอเพียงในทางเศรษฐกิจ คือ ตัวชี้วัดที่แสดงความไม่สมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคที่เกิดขึ้นจากปริมาณการผลิตที่น้อยเกินไป โดยที่มูลค่าการผลิตมีปริมาณน้อยกว่าค่าใช้จ่ายการบริโภค เป็นคนที่มีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายหรือมีรายได้จากการผลิตน้อยกว่าค่าใช้สอยในการบริโภค และจัดอยู่ในข่ายที่ยังไม่สามารถพึ่งตนเองหรือยืนอยู่บนขาของตนเองได้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากไม่พยายามลดปริมาณการบริโภคลง หรือเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้น ก็จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้ในการบริโภคไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นล้มละลายในที่สุด
นอกเหนือจากความไม่พอเพียงที่เกิดจากมูลค่าการผลิตมีปริมาณน้อยกว่าค่าใช้จ่ายการบริโภคแล้ว ความไม่พอเพียงยังรวมถึงกรณีของความไม่สมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคที่เกิดขึ้นจากปริมาณการบริโภคที่น้อยเกินไป เป็นคนที่มีความตระหนี่ถี่เหนียวในการใช้สอย พยายามเก็บออมมูลค่าการผลิตส่วนเกินนั้นไว้ โดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามที่ควรจะเป็น
ในประเด็นเรื่องความไม่พอเพียงนี้ คุณจิราพร เอี่ยมสมบูรณ์ ได้แสดงทัศนะผ่านทางบทความที่ส่งมายังคอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ ต่อคำถามของการดำรงชีวิตอย่างไร ถึงจะเรียกว่า “อยู่อย่างพอเพียง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…การประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง เปรียบเสมือนการยืนบนขาตนเอง โดยไม่เขย่งหรือย่อ การยืนอยู่บนขาของตนเองด้วยการเขย่ง เป็นการดำรงชีวิตที่ไม่มีความสุข ยึดติดกับวัตถุ ค่านิยม สังคมที่ฟุ้งเฟ้อ จนเกินฐานานุรูปแห่งตน ไม่รู้จักประมาณตนเอง มีกิเลสตัณหาทะยานอยากไม่สิ้นสุด เต็มไปด้วยความไม่รู้จักพอ ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ขาดความพอดี เป็นลักษณะของการเลียนแบบผู้อื่นที่เห็นว่าเขามีสิ่งใดแล้ว เราต้องมีเหมือนเขาบ้าง ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกว่าเป็นผู้ต่ำต้อย ด้อยกว่าผู้อื่น เดี๋ยวเขาหาว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน เป็นพวกแปลกแยก กลัวเข้าสังคมกับเขาไม่ได้ กลัวคนอื่นเขาว่า กลัวคนอื่นเขาดูถูก หรือกลัวอะไรต่อมิอะไรอย่างอื่นอีกสารพัด ตามแต่ละปัจเจกบุคคลจะมีความคิดเห็นไปตามทัศนคติ ความเชื่อถือ ความยึดมั่นถือมั่นแห่งตน ประสบการณ์ สติปัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะใช้เป็นข้ออ้างที่จะนำเอามาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ความต้องการแห่งตนได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ตนเองปรารถนา หรือตามความต้องการในการอยากมีอยากได้ เป็นไปตามกิเลสตัณหาทะยานอยากแห่งตน
ส่วนการยืนอยู่บนขาของตนเองด้วยการย่อ เป็นการดำรงชีวิตที่ไม่มีความสุขอีกเช่นกัน เป็นชีวิตที่แห้งแล้ง ขาดความพอดี พอเหมาะพอประมาณ ยึดมั่นถือมั่นหรือ ประหยัดจนเกินเหตุ ไม่สมฐานานุรูปแห่งตน อยู่อย่างลำบากยากไร้ แต่มีอันจะกิน หรือมีแต่ไม่ใช้ เป็นลักษณะที่ไม่สนใจใคร ไม่สนใจใครว่าจะถูกมองอย่างไร ตรงกันข้ามกับการดำรงชีวิตที่ยืนอยู่บนขาตนเองด้วยการเขย่ง…” ทั้งการยืนด้วยการเขย่งหรือด้วยการย่อ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากต่อการใช้ชีวิตที่ไม่พอเพียง ไม่เหมาะสมกับอัตภาพของตนเอง สังคมทุกวันนี้ มีผู้ที่ยืนด้วยการเขย่งหรือย่ออยู่มากมาย ก็อยากจะตะโกนถามกันให้ดังๆ ว่า เมื่อยขากันหรือยังครับ
นอกเหนือจากที่แต่ละคนจะพิจารณาต่อสภาพการยืนของตนเองได้อย่างเหมาะสมแล้ว อย่าลืมว่า เรามิได้ยืนอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ หากแต่ยังมีผู้ที่ยืนอยู่ข้างๆ อีกมากมาย สิ่งที่ควรถามต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ เรามายืนกอดคอกันดีมั๊ย ต่างคนต่างคำนึงถึงซึ่งกันและกัน ใครที่ยืนได้มั่นกว่าก็มากอดคอพยุงผู้ที่ขายังมีกำลังไม่แข็งแรงพอที่จะยืนได้ด้วยตัวเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นำไปสู่การพึ่งพิงอิงกัน (Inter-dependent) มีความสามัคคีที่จะเดินไปด้วยกัน เริ่มจากคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ ยังไม่ต้องคิดไกลไปกอดคอกับคนในบ้านอื่นเมืองอื่น หากเราปฏิบัติได้ สังคมไทยก็จะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ อย่ามาให้ต่างชาติเขานินทาได้ว่า คนไทยเราเต่าเหม็นจนกอดคอสามัคคีกันไม่ได้
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์