การจัดการความรู้ในเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร
การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management เป็นคำที่ได้รับความสนใจไม่น้อยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างตระหนักถึงคุณค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ในองค์กรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และได้พยายามศึกษาถึงวิธีการในการสร้างและรักษาสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวไว้ในกิจการ จนกลายเป็นศาสตร์แขนงที่มีการค้นคว้าและมีการสร้างทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างมากมาย
คำที่เกี่ยวข้องในศาสตร์ของการจัดการความรู้ มักจะประกอบไปด้วยคำว่า ข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ สารสนเทศ (Information) คือ ข่าวสาร หรือข้อมูลที่ถูกจัดรูปเพื่อการแสดงหรือการชี้แจง สำหรับนำไปใช้วิเคราะห์และการคำนวณ ความรู้ (Knowledge) คือ เนื้อความ หรือสารสนเทศที่ผ่านการถอดความ ผ่านกระบวนการคิดและเข้าใจ เป็นข้อมูลที่ถูกจดจำในรูปของประสบการณ์ ปัญญา (Wisdom) คือ ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ปราศจากอคติและความคิดเห็น มีความเที่ยงตรง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ในทางธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีกับการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศ เช่น การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับการประมวลผลข้อมูล การใช้ซอฟต์แวร์กับการจัดการสารสนเทศและการคำนวณต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงกับมีศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology – IT) คุณประโยชน์ที่ได้รับจากศาสตร์แขนงนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับระบบเศรษฐกิจ เกิดการเคลื่อนย้ายจากเศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม มาสู่เศรษฐกิจยุคสารสนเทศอย่างเต็มรูปในทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การขยายขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีกับความรู้นั้น มีพัฒนาการอยู่ในระดับจำกัด แม้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์จะเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและมิได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ถึงกับมีความพยายามที่จะบริหารจัดการความรู้ในองค์กรธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก สาเหตุที่แท้จริงคือ ด้วยคุณสมบัติของตัวความรู้เอง ที่ต้องอาศัยกระบวนการทางความคิด (Thinking) ที่มีอยู่ในตัวคนหรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้น นอกเหนือจากความจำ (Memory) และการประมวลผล (Computing) ซึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ช่วยเหลือสนับสนุนได้
ด้วยเหตุนี้ เทคนิคการจัดการความรู้ในระยะหลัง จึงดำเนินผ่านกระบวนการเรียนรู้ระหว่างคนสู่คนเป็นหลัก ผ่านทางกลไกต่างๆ ที่เรียกว่า ชุมชนแห่งการปฏิบัติ (Community of Practice) หรือองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) หรือบทสนทนา (Dialogue) เป็นต้น โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเพียงองค์ประกอบรอง และลำดับขั้นของการพัฒนาศาสตร์ในแขนงนี้ในปัจจุบัน ยังหยุดอยู่ที่ขั้นความรู้ (Knowledge) ยังไม่ครอบคลุมถึงขั้นปัญญา (Wisdom)
ความรู้ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แม้ว่าการอธิบายถึงคุณลักษณะและเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะใช้คำว่าความรู้ อันเป็นที่ตกลงและเข้าใจกันทั่วไป แต่หากพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่นั้นอย่างละเอียด กลับพบคำว่า “ความรอบรู้” ซึ่งกินความมากกว่าคำว่า “ความรู้” คือ นอกจากจะต้องอาศัยความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับงานที่จะทำแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเชิงกว้าง ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่จะทำทั้งหมด โดยเฉพาะที่พระองค์ท่านทรงเน้น คือ ระบบชีวิตของคนไทย อันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จ จึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้
การนำองค์ประกอบด้านความรู้ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ในทางธุรกิจ จึงมิได้จำกัดอยู่เพียงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงความอยู่รอด กำไร หรือการเจริญเติบโตของกิจการแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ สอดคล้องตามหลัก “การไม่ติดตำรา” เช่น ไม่ควรนำเอาความรู้จากภายนอกหรือจากต่างประเทศ มาใช้กับประเทศไทยโดยไม่พิจารณาถึงความแตกต่างในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบระมัดระวัง หรือไม่ควรผูกมัดกับวิชาการ ทฤษฎี และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทยและสังคมไทย
ยิ่งไปกว่านั้น “ความรู้” ที่ปรากฏในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังประกอบไปด้วย “ความระลึกรู้” (สติ) กับ “ความรู้ชัด” (ปัญญา) ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่วิชาการหรือทฤษฎีในตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ยังไม่ครอบคลุมถึงหรือยังไม่พัฒนาก้าวหน้าไปถึงขั้นดังกล่าว จึงไม่มีแนวคิดหรือเครื่องมือทางการบริหารจัดการความรู้ใดๆ ที่มีความละเอียดลึกซึ้งเท่ากับที่ปรากฏอยู่ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกแล้ว
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์