EVA ใช้เป็นเครื่องมือจัดการธุรกิจแบบพอเพียงได้หรือไม่
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของความพยายามที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ คือ ความยากลำบากในการแปลงปรัชญาที่เป็นนามธรรม ให้ได้มาซึ่งวิธีการอย่างเป็นขั้นตอน และเครื่องมือสนับสนุนการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม มีความเหมาะสมกับองค์กรธุรกิจที่คุ้นเคยกับการบริหารจัดการโดยมีผลลัพธ์ที่วัดได้ในเชิงตัวเลข สามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ประเมินผล สำหรับการนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงาน หรือการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ในการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะคำนึงถึงกำไรทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าการแสวงหากำไรสูงสุดในทางบัญชี โดยพิจารณาถึงหลักความพอประมาณในธุรกิจที่ก่อให้เกิดกำไรทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารกำไรทางเศรษฐศาสตร์นี้ ก็คือ ความเหมาะสมของการดำเนินกิจกรรมการผลิตที่ไม่น้อยเกินไป จนต่ำกว่ากำไรปกติ กระทั่งกิจการไม่สามารถอยู่รอดได้ และไม่มากเกินไปจนสูงกว่ากำไรปกติ กระทั่งกิจการต้องประสบภาวะเสี่ยงหรือขาดภูมิคุ้มกันในธุรกิจ เครื่องมือทางธุรกิจที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้บริหารจัดการกำไรทางเศรษฐศาสตร์เครื่องมือหนึ่ง คือ มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added - EVA)
บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Stern Stewart & Co. เป็นผู้คิดค้นการวัดผลการดำเนินงานโดยใช้การคำนวณมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ เมื่อปี ค.ศ. 1989 โดยมีการพัฒนามาจากแนวคิดของกำไรทางเศรษฐศาสตร์ หรือกำไรส่วนที่เหลือ (Residual Income) ซึ่งคำนวณได้จากกำไรจากการดำเนินงานหักด้วยต้นทุนของเงินทุน เพื่อให้สะท้อนถึงผลส่วนเพิ่มขององค์กรอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจจะมีความแตกต่างกับกำไรทางเศรษฐศาสตร์ตรงที่มีการปรับปรุงรายการกำไรและเงินทุน รวมถึงรายการปรับปรุงต่างๆ ที่บริษัทได้ระบุไว้ประมาณ 164 รายการ โดยรายการปรับปรุงที่สำคัญๆ ได้แก่ การบันทึกสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่างๆ ขึ้นเป็นทุน เช่น ค่าความนิยม ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายทางการตลาดและฝึกอบรม รวมถึง การรับรู้ต้นทุนที่เกี่ยวกับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ การรับประกันสินค้า และการตั้งสำรองสินค้าล้าสมัย เป็นต้น
การคำนวณมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจากรายการปรับปรุงมีจำนวนมาก มีความยากในการทำความเข้าใจและในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้ตามที่ต้องการ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริหารและวัดผลการดำเนินงานด้วยวิธีดังกล่าว ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะในองค์กรขนาดเล็กที่มิได้มีการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ
EVA กับหลักความพอประมาณ
แม้ว่าการบริหารจัดการธุรกิจโดยใช้หลักมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจกับหลักความพอประมาณที่ก่อให้เกิดกำไรทางเศรษฐศาสตร์ จะมีความเหมือนกันตรงที่เป้าหมายไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด แต่ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจกับหลักความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ วิธีการของมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ เป็นการบริหารธุรกิจโดยเน้นสร้างมูลค่าสูงสุดในส่วนของผู้ถือหุ้น หรือเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ถึงแม้ผู้คิดค้นได้พยายามปรับปรุงเครื่องมือดังกล่าวให้สามารถครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรส่วนอื่น อันได้แก่ ผู้บริหารและพนักงาน โดยใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดผลเพื่อกำหนดเป็นแผนการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารหรือพนักงานในรูปของโบนัสที่เพิ่มขึ้นตามมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจขององค์กร แต่ก็มิได้พิจารณาครอบคลุมถึงประโยชน์หรือผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรแต่อย่างใด
ในขณะที่วิธีการตามหลักความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับกำไรทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ถือหุ้นแล้ว การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงยังต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาถึงความสมดุลในประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในองค์กร ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน กับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อม คู่แข่งขันทางธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะด้านต่างๆ ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแบบองค์รวม ที่มิได้พิจารณาอย่างแยกส่วนดังเช่นเครื่องมือมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
หลักความพอประมาณในธุรกิจ เป็นคุณลักษณะตั้งต้นที่กิจการจะต้องคำนึงถึงในการดำเนินงานเป็นลำดับแรก โดยพัฒนามาจากแนวคิดของการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ หลัก “พอเพียง” และ “พออยู่–พอกิน” ซึ่งถือเป็นรากฐานขององค์กรแบบพอเพียงและเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะพัฒนากิจการ เครือข่ายธุรกิจ และประเทศในขั้นต่อไป
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์