Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนอย่างไร


สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดตัวรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย (Thailand Human Development Report) ประจำปี 2550 ที่มีชื่อรายงานว่า “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน” โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้กล่าวเปิดงานแนะนำรายงานฉบับดังกล่าว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550

รายงานการพัฒนาคนระดับโลก ถูกจัดทำและเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 2533 ด้วยแนวความคิดที่ต้องการสื่อให้คนทั่วโลกได้ตะหนักว่า การพัฒนาคนมีความสำคัญมากกว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ประชาชาติ เนื่องจาก คนคือความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาติ การพัฒนาจึงหมายถึงการขยายทางเลือกให้คนได้มีชีวิตในแบบที่ตนให้คุณค่า ซึ่งมีความหมายมากกว่าการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นวิธีการที่สำคัญประการหนึ่งในการขยายโอกาสให้คนได้มีทางเลือกมากขึ้นก็ตาม

จนถึงขณะนี้ ได้มีการจัดทำรายงานการพัฒนาคนระดับประเทศมาแล้วมากกว่า 400 ฉบับใน 135 ประเทศทั่วโลก รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทยฉบับใหม่นี้ เป็นการมองปัญหาและแนวทางการจัดการที่มีความโดดเด่นต่างจากแนวทางที่เคยมีมาในอดีต โดยได้นำเสนอแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งแรกที่ได้มีการนำเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนแนวทางการประยุกต์ใช้เผยแพร่ต่อผู้คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ในทัศนะของ UNDP ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในยุคปัจจุบัน ที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง มีปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและภาวะโลกร้อนซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่โลกกำลังมองหาเพื่อทดแทนแนวทางการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมั่นคงมากกว่าการเติบโตแบบรวดเร็วที่ปราศจากการควบคุม สิ่งสำคัญคือการบริหารเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบและการเข้าสู่การค้าแบบตลาดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งในสังคมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบด้านลบจากโลกาภิวัตน์

ในรายงานการพัฒนาคนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติฉบับนี้ ระบุว่า ทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาคน ต่างให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ เน้นความอยู่ดีมีสุขมากกว่าความร่ำรวย โดยมีเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ และเห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงของมนุษย์และการส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมสามารถที่จะพัฒนาได้เต็มที่ตามศักยภาพของตน แต่ที่โดดเด่นมากไปกว่านั้น ก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังเพิ่มมิติการพัฒนาด้านพื้นฐานจิตใจและคุณธรรมของคน เพิ่มเติมจากดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index - HAI) ที่ประกอบไปด้วย 22 องค์ประกอบ และ 40 ตัวชี้วัด โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 8 ด้านตามขั้นการเจริญเติบโตของคน เริ่มจากสุขภาพ ตามด้วยกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในวัยเด็กคือ การศึกษา จนเข้าสู่วัยทำงานเพื่อการสร้างรายได้อย่างเพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพและมีบ้านอยู่อาศัย เข้าสู่การมีชีวิตครอบครัวและชุมชน มีการคมนาคมและการสื่อสาร ตลอดจนการมีส่วนร่วมในสังคม

เมื่อพิจารณาโครงสร้างดัชนีความก้าวหน้าของคนทั้ง 8 ด้านมาแสดงในเชิงเหตุและผลภายใต้มุมมองคุณลักษณะและเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีผลลัพธ์เป็นความสมดุล ความยั่งยืน และการพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง จะปรากฏเป็นผังความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในดัชนีความก้าวหน้าของคนตามแผนภาพ

แผนภาพความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในดัชนีความก้าวหน้าของคน

จากแผนภาพความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในดัชนีความก้าวหน้าของคน จะเห็นว่าองค์ประกอบในดัชนีความก้าวหน้าของคนเกือบทั้งหมดเน้นที่การพัฒนาภายนอกตัวคน เป็นการพัฒนาทางพฤติกรรมที่ปรากฏอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านการทำงาน ด้านรายได้ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และบางส่วนในด้านสุขภาพทางกาย ซึ่งจัดว่าเป็นการพัฒนาในทางกายภาพ ในขณะที่ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านคมนาคมและการสื่อสาร และด้านการมีส่วนร่วม จัดว่าเป็นการพัฒนาในทางสังคมของคน

สำหรับการพัฒนาในทางปัญญา ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบดัชนีความก้าวหน้าของคนภายใต้ด้านการศึกษาเพียงครึ่งเดียว คือ ความรู้เพื่อใช้ในการทำงานหารายได้หรือเป็นความรู้ในวิชาชีพ แต่ความรู้ในวิชาชีวิตหรือความรู้เพื่อใช้ในการทำงานทางจิตใจ ยังไม่เป็นที่ปรากฏในองค์ประกอบดัชนีความก้าวหน้าของคน ในขณะที่การพัฒนาในทางจิตใจ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเพียงส่วนเสี้ยว คือด้านสุขภาพ โดยมีตัวชี้วัดหนึ่งที่กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยโรคเครียด โรคจิต ประสาท ซึ่งกล่าวกันตามจริงแล้ว ก็จัดว่ายังไม่อยู่ในข่ายของการบ่งชี้ถึงการพัฒนาทางจิตใจที่แท้ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันได้แก่ เงื่อนไขด้านความรู้ ซึ่งประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ การใช้สติและปัญญาในการดำเนินชีวิต กับเงื่อนไขด้านคุณธรรม ซึ่งประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน มีความเพียร ความรอบคอบระมัดระวังที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน จะเห็นว่าดัชนีความก้าวหน้าของคนยังสามารถที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มเติมส่วนประกอบที่ขาดหายไป ซึ่งจากแผนภาพจะปรากฏอย่างชัดเจนว่า องค์ประกอบด้านสติและปัญญา ควรจะถูกเพิ่มเข้าไว้ในดัชนีความก้าวหน้าของคน ในส่วนที่เป็นการแสวงหาความรู้ในวิชาชีวิตหรือความรู้เพื่อใช้ในการทำงานทางจิตใจ นอกเหนือจากความรู้เพื่อใช้ในการทำงานหารายได้หรือเป็นความรู้ในวิชาชีพ เช่นเดียวกับเงื่อนไขด้านคุณธรรมที่เป็นการพัฒนาในทางจิตใจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นฐานของการพัฒนาภายในตัวคน นอกเหนือจากองค์ประกอบที่มีอยู่ในดัชนีความก้าวหน้าของคนที่เน้นการพัฒนาภายนอกตัวคนเป็นส่วนใหญ่

ด้วยการปรับวางระดับการพัฒนาคนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้การพัฒนาภายนอกตัวคนตามองค์ประกอบในดัชนีความก้าวหน้าของคน ทั้งในด้านสุขภาพ ด้านการทำงาน ด้านรายได้ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ซึ่งจัดว่าเป็นการพัฒนาทางกายภาพ และในด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านคมนาคมและการสื่อสาร ด้านการมีส่วนร่วม และด้านการศึกษา ซึ่งจัดว่าเป็นการพัฒนาทางสังคม มีความสมดุลกับการพัฒนาทางปัญญา (ความรู้) และการพัฒนาทางจิตใจ (คุณธรรม) ซึ่งเป็นการพัฒนาภายในตัวคน อีกทั้งเป็นการเตรียมคนให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านและเป็นหนทางของการพัฒนาคนให้เต็มคนอย่างยั่งยืน

[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์