Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

บริโภคอย่างไรให้ชีวิตสมดุล


การบริโภคถือเป็นเป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์นั้นมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การบริโภค การบริโภคเป็นการบำบัดหรือสนองความต้องการซึ่งถือเป็นจุดต้นกำเนิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ หากพิจารณาความหมายตามวิธีการของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การบริโภค คือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการเพื่อให้เกิดความพึงพอใจหรือความสุข

ในระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไป กิจกรรมทางการผลิตและการบริโภคมักจะถูกแยกออกจากกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด ในหลายกรณี ผู้ผลิตจะสร้างผลผลิตในส่วนที่ตัวเองไม่ได้บริโภค แต่ต้องการนำไปจำหน่ายเพื่อแลกเป็นเงินรายได้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตไม่ได้ และบ่อยครั้งก็มักจะบริโภคเกินกำลังใช้จ่ายของตัวเอง เรียกว่ารายได้จากกิจกรรมทางการผลิตไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค จนกลายเป็นการก่อหนี้สินเพื่อการบริโภคตามค่านิยมโดยขาดความพอดี

พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์นั้น มี 2 ประเภท ได้แก่ การบริโภคเพื่อสนองความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตน ซึ่งเป็นการบริโภคแบบเสพรสให้เกิดความพึงพอใจเรื่อยไปไม่รู้จบไม่รู้อิ่ม กับการบริโภคเพื่อสนองการมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการบริโภคที่มีจุดหมายของการมีชีวิตที่ดี และเป็นฐานของการฝึกฝนศักยภาพของตนเองต่อไป

ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีข้อพิจารณาว่า เมื่อเกิดความต้องการขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะได้สนองความต้องการ แต่ในเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการหาวิธีสนองความต้องการแล้ว ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า ถ้าเป็นความต้องการที่เป็นโทษทำลายการมีชีวิตที่ดี เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น ก็ให้สามารถระงับความต้องการนั้นได้ด้วย ดังนั้น ความหมายของการบริโภคในความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความสุขจากการมีชีวิตที่ดี

การบริโภคนั้น อันที่จริงก็คือ กระบวนการผลิตในรูปแบบหนึ่ง ที่มีสินค้าและบริการเป็นปัจจัยนำเข้า ปัจจัยส่งออกที่ได้จากกระบวนการบริโภคก็คือ ความสุข และของเสียอันเป็นผลจากการบริโภค ในลักษณะเช่นนี้ย่อมที่จะกล่าวถึงการบริโภคในฐานะที่เป็นกระบวนการผลิตได้ เพียงแต่ผลผลิตที่ได้แทนที่จะเป็นสินค้าหรือบริการตามปกติกลับเป็นความสุขและของเสีย ซึ่งสามารถพิจารณาถึงประสิทธิภาพการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ทรัพยากรที่ใช้ในการบริโภค และความสุขที่ได้จากกระบวนการบริโภค ทำนองเดียวกับการพิจารณาประสิทธิภาพการผลิต

ประสิทธิภาพการบริโภคในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เน้นการบริโภคเพื่อให้ได้ความสุขสูงสุดเมื่อเทียบกับรายได้ที่มีจำกัดในการซื้อหาสินค้าและบริการเพื่อการบริโภค โดยละเลยการให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่าจะใช้ปัจจัยการบริโภคน้อยที่สุดหรือไม่ และของเสียที่เกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือไม่ เพราะมีข้อสมมติฐานว่า ถ้าความสุขต่อสินค้าและบริการสูงสุดภายใต้เงื่อนไขความจำกัดของรายได้ ก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้เงื่อนไขของข้อจำกัดดังกล่าว โดยมิได้กังวลถึงของเสียที่จะเกิดตามมา ผลก็คือ อาจจะมิได้ใช้ปัจจัยการบริโภคน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ แต่กลับเป็นว่า บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่รายได้จะพออำนวยได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประสิทธิภาพการบริโภคในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือการบริหารจัดการกระบวนการบริโภคโดยเน้นที่ตัวตั้งของสมการประสิทธิภาพ อันได้แก่ ความสุขภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของรายได้หรืองบประมาณนั่นเอง

ขณะที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีข้อพิจารณาว่า ประสิทธิภาพการบริโภคเกิดจากความสามารถในการสร้างความสุขเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการที่ใช้ในการบริโภค โดยคำนึงถึงการใช้ปัจจัยการบริโภคที่น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด และหากในกระบวนการบริโภคมีการใช้ปัจจัยการบริโภคน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ แล้วก็มีความหมายในตัวว่าประสิทธิภาพในการบริโภคสินค้าและบริการสูงสุดด้วย กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิภาพการบริโภคในเศรษฐกิจพอเพียง คือการบริหารจัดการกระบวนการบริโภคที่เน้นความคุ้มค่าของการใช้สินค้าและบริการ หรือตัวหารในสมการของประสิทธิภาพนั่นเอง

นอกจากการวัดประสิทธิภาพการบริโภคแล้ว ยังอาจมีการวัดประสิทธิผลการบริโภคอีกกรณีหนึ่ง โดยเทียบระหว่างความสุขและของเสียจากกระบวนการบริโภค ประสิทธิผลเป็นการวัดที่แสดงถึงคุณภาพการบริโภคว่า ความสุขที่ได้จากกระบวนการบริโภคนั้น ตรงกับที่ต้องการเพียงใด ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ประสิทธิผลการบริโภค เน้นที่การบริโภคเพื่อให้ได้ความสุขตรงกับที่ใจปรารถนามากที่สุด โดยละเลยการให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่าเป็นความต้องการประเภทใด และจะมีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือไม่ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิผลการบริโภคในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือการบริหารจัดการกระบวนการบริโภคโดยเน้นที่ตัวตั้งของสมการประสิทธิผล อันได้แก่ ความสุขเช่นเดียวกับประสิทธิภาพการบริโภค

ขณะที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคำนึงว่า คำว่า ความสุข หมายเฉพาะ ความสุขที่ทำให้มีชีวิตที่ดี คือ เมื่อบริโภคแล้วไม่ทำให้เสียสุขภาวะของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาสุขภาวะ เสริมสุขภาวะนั้น ส่วนความสุขที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบริโภคเพื่อสนองความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตน แม้จะไม่ใช่ของเสียจากการบริโภค เป็น “ความสุขพอกเสริม” ด้วยตัณหาที่ไม่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะ ก็ถือว่าเป็นของเสียจากการบริโภคเช่นกัน ประสิทธิผลการบริโภคจึงได้แก่ ความสุขที่เกิดขึ้นเทียบกับของเสียจากการบริโภค โดยเน้นให้เกิดของเสียจากกระบวนการบริโภคให้น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด และหากในกระบวนการบริโภคมีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุดแล้วก็มีความหมายในตัวว่าอัตราส่วนของความสุขต่อของเสียสูงสุดด้วย กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิผลการบริโภคในเศรษฐกิจพอเพียง คือการบริหารจัดการกระบวนการบริโภคที่เน้นให้เกิดของเสียจากกระบวนการบริโภคให้น้อยที่สุด หรือตัวหารในสมการของประสิทธิผลนั่นเอง

การบริหารประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริโภคดังกล่าว สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการตัดสินใจเรื่องการบริโภคในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก สนับสนุนให้เกิดการบริโภคคราวละมากๆ หรือบ่อยๆ โดยหวังผลที่จะจำหน่ายสินค้าและบริการให้ได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ฟาสต์ฟูดส์บางแห่งกระตุ้นให้คนเพิ่มเงินอีกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารจากเมนูปกติ หรือการสร้างนิสัยการบริโภคเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพจากวันละหนึ่งครั้งเป็นวันละสองครั้ง ซึ่งอาจเกินความต้องการของร่างกาย และทำให้อ้วน ดังนั้น การพิจารณาขนาดของการบริโภคให้พอดีกับความต้องการสุขภาวะจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ การบริโภคจึงควรเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งเป็นได้ทั้งในแง่บวก คือบริโภค และในแง่ลบ คืองดบริโภค ตัวอย่างเช่น การงดบริโภคอาหารเย็น กลับมีความหมายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชีวิต แทนการบริโภคตามปกติ ผู้ที่มีกิจวัตรดังกล่าวยังสามารถได้รับความสุขจากการไม่บริโภค และเกิดสุขภาวะขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การได้รับความสุขจากการงดบริโภคอาจจะเกิดจากกิเลสได้ด้วย เช่น มีมานะถือตัว แสดงให้เห็นว่าตนเองเก่งเหนือผู้อื่น จึงงดไม่รับประทานอาหารเย็น หรือรับประทานอาหารมื้อเดียวได้ แล้วก็ได้รับความสุขจากการงดบริโภคนั้น แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว ความสุขดังกล่าวยังไม่จัดว่าเป็นความสุขที่ทำให้มีชีวิตที่ดีแท้ แต่เป็นความสุขพอกเสริมประเภทหนึ่งที่เกิดจากมานะถือตัว

ความสุขที่ทำให้มีชีวิตที่ดี คือ ความสุขที่เกิดจากการบริโภคน้อยลง หรือการงดอาหารเพื่อเป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง หรือเป็นส่วนที่ช่วยให้สุขภาวะตนเองดีขึ้น เกิดเป็นความสมดุลลงตัว ความสุขลักษณะนี้ เรียกว่าเป็นความสุขที่ทำให้ชีวิตเกิดการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไป

[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์