Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นจุดหมายหรือวิถีทางแห่งการปฏิบัติ


เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานมาจากแนวคิดในการสร้างความ “พอมี” “พอกิน-พอใช้” ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากไร้ขัดสน ยังมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น การพัฒนาประเทศก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

เศรษฐกิจพอเพียง มิใช่จุดหมาย (End) แต่เป็นวิถีทาง (Means)
เมื่อบุคคลมีความ “พอมี” “พอกิน-พอใช้” แล้ว มิได้หมายความว่าการพัฒนาจะสิ้นสุดลงอยู่เพียงนั้น เนื่องจากความ “พอกิน-พอใช้” นั้นเป็นเรื่องของ “ปาก-ท้อง” เป็นเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน” ที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิต (พอมี) และการบริโภค (พอกิน-พอใช้) ดังนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งหมายที่จะให้บุคคลมีความพอเพียงในเรื่องปาก-ท้องเป็นเบื้องต้น แต่มิได้สิ้นสุดอยู่เพียงเท่านี้ ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตนจะก่อให้เกิดความพร้อมและศักยภาพที่จะพัฒนาสู่ขั้นต่อไป อันได้แก่ เรื่องของ “หัว(คิด)-(จิต)ใจ”

เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้มีบทบาทเป็นเพียงวิถีทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนหรือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหนะส่งให้บุคคลมีการพัฒนาชีวิตในทางจิตใจและในทางปัญญา หากบุคคลนั้นมีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งก็คือการพัฒนา “เงื่อนไขความรู้” (หัวคิด) และ “เงื่อนไขคุณธรรม” (จิตใจ) ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับบุคคลที่ยังรีรอหรือยังขาดเงื่อนไขในการพัฒนาจิตใจและปัญญาไปในทางที่สูงขึ้น แต่มีความสามารถในการทำให้ตนเองมีความ “เหลือกิน-เหลือใช้” ในชีวิต ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังเสนอแนวทางให้บุคคลนั้นสามารถพัฒนาออกไปในทางข้างหรือในแนวกว้าง ด้วยการพิจารณาว่าจะบริหารจัดการส่วนที่เหลือกิน-เหลือใช้นั้นให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า” ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดสรรผลผลิต (แบ่งปัน) ซึ่งต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยตรง

ฉะนั้น ทัศนคติที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้การพัฒนาตนเองหยุดชะงักหรือถอยหลัง และไม่คบค้าสมาคมกับผู้อื่นนั้น จึงไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมิได้สิ้นสุดที่ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตน แต่ยังเป็นวิถีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งในเชิงลึกที่ก้าวสูงขึ้นและในเชิงราบที่แผ่กว้างออกไปสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว และไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปได้


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์