Scenario Planning: เครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจ
การวางแผนรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Scenario Planning) ต่างจากการทำนายหรือการพยากรณ์ (Forecasting) ตรงที่ภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Scenario) จะได้จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้น (What could be) ในอนาคตโดยมีภาพสรุปที่เป็นไปได้หลายทาง (Uncertain End) ในขณะที่การทำนาย จะวิเคราะห์แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้น (What should be) จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำไปสู่ภาพสรุปที่มีลักษณะแน่ชัด (Certain End)
ในทางธุรกิจ การใช้วิธีการทำนายหรือการพยากรณ์มีความเสี่ยง เนื่องจากองค์กรมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการใช้จ่ายงบประมาณ สร้างสายการผลิต หรือเตรียมทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจจะไม่เกิดขึ้นตามภาพสรุปนั้น ในขณะที่การใช้เครื่องมือ Scenario Planning จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สนับสนุนให้องค์กรสร้างความเชี่ยวชาญในการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ อันส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวขององค์กรทั้งในระยะสั้น และความสามารถในการพัฒนาระบบองค์กรที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในระยะยาว
เครื่องมือ Scenario Planning มีรากฐานการกำเนิดนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดย เฮอร์มานน์ ค๊าน เป็นผู้ริเริ่มเทคนิคของการคิดในแบบ “future-now” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลและจินตนาการ เพื่อการวิจัยเทคโนโลยีอาวุธในรูปแบบใหม่ๆ สมัยที่ทำงานอยู่ในบริษัท RAND Corporation ในเวลาต่อมา นักเขียนชื่อ ลีโอ ร็อสเท่น ได้ใช้ศัพท์คำว่า Scenario ที่ใช้ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดสมัยนั้น (ภายหลังใช้คำว่า Screenplay แทน) อธิบายถึงวิธีการคิดในลักษณะดังกล่าว หลังจากนั้น เฮอร์มานน์ ค๊าน ได้ก่อตั้งสถาบันฮัดสันในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ค้นคว้าวิธีการทลายกรอบยึดทางความคิดเพื่อให้สามารถคาดการณ์ถึงอนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายทาง ผลงานตีพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของเขาได้แก่ การป้องกันสงครามนิวเคลียร์ โดยใช้วิธีการบอกเล่าถึงอนาคตที่สามารถส่งผลร้ายแรงอย่างไม่คาดคิด หากสงครามได้เกิดขึ้นจริง
Scenario Planning กับการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในธุรกิจ
การวางแผนรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ Scenario Planning นี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ด้วยการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น Scenario Planning จัดเป็นเครื่องมือในขั้นของการวางแผน เพื่อให้องค์กรสามารถประเมินถึงภาพอนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ ทาง ซึ่งเป็นส่วนตั้งต้นของการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
คำว่า “ระบบ” ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การที่กิจการต้องคำนึงถึงส่วนประกอบทางธุรกิจทั้งกิจกรรมการผลิตและการบริโภคที่ประกอบกันเป็นระบบ เช่น ภายใต้กระบวนการผลิต ธุรกิจควรใช้ทรัพยากรที่หาได้ภายในท้องถิ่นมาเป็นปัจจัยการผลิตหลัก หลีกเลี่ยงการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกมากเกินไป ในขณะเดียวกัน ภายใต้กระบวนการบริโภค ธุรกิจควรที่จะบริโภคสินค้าหรือบริการที่ผลิตได้เองภายในกลุ่ม ก่อนที่จะนำเข้าสินค้าหรือบริการจากภายนอกมาบริโภค ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกจนมีภูมิคุ้มกันในตัวที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี
ความเป็น “ระบบ” จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อกลุ่มธุรกิจหรือเครือข่ายธุรกิจใดๆ คำนึงถึงการดำรงสัดส่วนการผลิตในสิ่งที่สามารถบริโภคหรือใช้สอยได้เองภายในกลุ่มหรือเครือข่ายนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหาสินค้าหรือบริการจากภายนอกทั้งหมด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ผลิต (Producer) และผู้บริโภค (Consumer) เป็นบุคคลเดียวกัน เรียกว่า ผู้ผลิตโภค (Prosumer) เปรียบได้กับหลักการ “รวมที่จุดเดียว” ของกระบวนการผลิตและการบริโภค ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบเชิงลบจากพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด จนกระทั่งหลายกิจการขาดภาวะคุ้มกัน และอาจถึงกับล่มสลาย เมื่อต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละรอบ
อย่างไรก็ดี เครื่องมือ Scenario Planning นี้ มุ่งให้ความสนใจต่อการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของอนาคตที่ควบคุมไม่ได้ จากมุมมองภายในกิจการของตนเป็นหลัก ขณะที่ แนวทางการสร้างระบบภูมิคุ้มกันตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังได้ให้ความสนใจต่อความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรด้วย ยกตัวอย่างเช่น องค์กรสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคู่ค้าหรือผู้ที่อยู่ในฐานะเจ้าของวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตให้เติบโตและอยู่รอดได้ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกลับมาอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เป็นวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวมให้ยืนอยู่ได้ จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ไม่เกี่ยวข้องกัน ยกระดับไปสู่การให้ความใส่ใจในความเป็นไปนอกกิจการที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในกิจการ
ฉะนั้น การสร้างระบบภูมิคุ้มกันตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงสามารถแบ่งออกได้เป็นสองแนวทาง คือ การสร้างที่ภายในองค์กร ซึ่งเป็นการจัดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในเพื่อให้ทันและเข้ากับสิ่งภายนอก กับการสร้างที่ภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นการจัดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งภายในได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์