Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

บรรษัทภิบาลและบรรษัทบริบาลเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร


เมื่อกล่าวถึงคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ หลักการที่มักถูกอ้างถึงคือ ธรรมาภิบาลในธุรกิจ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งถือเป็นหลักการเบื้องต้นที่มุ่งสร้างให้องค์กรมีความ "ดี" อันเป็นรากฐานแห่งความยั่งยืนของกิจการ นอกเหนือจากการบริหารกิจการ เพื่อให้องค์กรมีความ "เก่ง" และนำไปสู่การเจริญเติบโตของกิจการ

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทภิบาล มาจากคำว่า บรรษัท + อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง) + บาล (แปลว่า การปกครอง การรักษา) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการเป็นหลัก

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศเผยแพร่แก่บริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

เรื่องของบรรษัทภิบาล ถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่ต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

หลักการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งถือเป็นหลักการที่มุ่งสร้างให้องค์กรมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen)

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

เรื่องของบรรษัทบริบาล จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลัง และความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังยกร่างเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 6 หมวด ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการจำแนกระดับของความพอเพียงเป็นสองแบบด้วยกัน คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ซึ่งเป็นความพอเพียงในระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเป็นเบื้องต้น คำนึงถึงการดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยยึดหลักของความถูกต้องโปร่งใส และการมีจริยธรรมที่ดี

ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เป็นความพอเพียงในระดับกลุ่มธุรกิจและเครือข่าย ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มและการประสานความร่วมมือกัน ดำเนินกิจการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม นอกเหนือจากประโยชน์ของกิจการ มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถ ตลอดจนการประสานงาน และประสานประโยชน์กันบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน

หากนำหลักคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งเรื่องบรรษัทภิบาลและบรรษัทบริบาลมาพิจารณาเทียบเคียงกับระดับของความพอเพียงทั้งสองแบบ จะพบว่า บรรษัทภิบาลนั้น เป็นหลักปฏิบัติที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน องค์กรธุรกิจที่มีบรรษัทภิบาล แสดงให้เห็นว่า กิจการมีการเคารพสิทธิและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรอย่างเป็นธรรม มีการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท

ขณะที่บรรษัทบริบาล ถือเป็นหลักปฏิบัติที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า องค์กรธุรกิจที่มีบรรษัทบริบาล แสดงให้เห็นว่า นโยบายของกิจการมิได้จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรด้วย หลักการของบรรษัทบริบาล คือ การเน้นให้องค์กรธุรกิจรู้จักคิดแบ่งปัน และดำเนินกิจการโดยไม่เบียดเบียนสังคมส่วนรวม การรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเอาใจใส่ในการดูแลสังคม สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ดังนั้น หากกิจการนำหลักคุณธรรมทั้งบรรษัทภิบาลและบรรษัทบริบาลไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ ก็เรียกว่าปฏิบัติได้ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานและแบบก้าวหน้า เป็นกิจการที่มีความสมดุลของการพัฒนาทั้งในแง่ของการเจริญเติบโตและความยั่งยืน รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันในกิจการ ที่พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


[Original Link]



1 ความคิดเห็น:

Blogger poranee said...

บทความดี ๆ ในเว็บไซต์ www.sufficiencyeconomy.com มีมากมาย ให้ความรู้เยอะแยะ ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครนำไปเผยแพร่ต่อนะ ขอเป้นกำลังใจให้ผู้ที่ทำเว็บไซต์นี้ อย่าทิ้งเว็บไซต์นี้นะคะ Update เรื่อย ๆ
ขอบคุณที่มีเว็บไซต์ดี ๆ อย่างนี้ให้เราอ่าน
ภรณี หลาวทอง (ทราย)

5:36 PM  

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์