จะเลือก GNH หรือ GDP
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีข้อจำกัดอยู่หลายประการสำหรับใช้วัดระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้มีผู้พยายามพัฒนาดัชนีทางเลือกเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนตัวเลข GDP และหนึ่งในดัชนีทางเลือกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้แก่ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ที่ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนในประเทศมากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ GDP ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการผลิต และ GNH ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการบริโภค ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ GDP แล้วหันมาใช้ GNH เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนนั้น เปรียบเหมือนกับการถ่ายโอนน้ำหนักความสำคัญจากกิจกรรมการผลิตมาสู่กิจกรรมการบริโภค ทั้งที่ในทางปฏิบัติไม่สามารถละเลยความสำคัญของกิจกรรมการผลิตหรือการบริโภคอันใดอันหนึ่งลงไปได้
ในฝั่งผู้ที่สนับสนุนการใช้ GNH อาจยกเหตุผลมาหักล้างว่า เนื่องจากการบริโภคคือเป้าหมายสุดท้ายของวิชาเศรษฐศาสตร์ การผลิตต่างๆ ก็ต้องเป็นไปเพื่อการบริโภคหรือจบลงที่การบริโภคทั้งสิ้น การวัดปัจจัยส่งออกจากกระบวนการบริโภค จึงมีความสมเหตุสมผลกว่าการวัดปัจจัยส่งออกจากกระบวนการผลิต ซึ่งยังอยู่ระหว่างทางของสายกิจกรรมในทางเศรษฐศาสตร์
ส่วนในฝั่งที่สนับสนุนการใช้ GDP แบบเดิม อาจไม่จำเป็นต้องยกเหตุผลใดมาสนับสนุนมากนัก เนื่องจากปัจจุบันแทบทุกประเทศก็ล้วนแล้วแต่ใช้ดัชนี GDP ในการวัดสภาวะทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ประกอบกับเหตุผลทางเทคนิคในการวัดค่าความสุขที่เป็นนามธรรม ซึ่งแม้จะเห็นคล้อยตาม แต่ก็ไม่สามารถวัดได้หรือวัดได้ยากกว่ามากในทางปฏิบัติ จึงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เคยอรรถาธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า คนที่สุขมักจะเฉื่อย ถ้าไม่มีเป้าหมายอื่นมารองรับ และอาจจะนำไปสู่ความประมาทได้ ในทางตรงข้าม กลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ ก็จะไปกระตุ้นความโลภเพื่อให้คนกระตือรือร้น ขวนขวาย ขยันหมั่นเพียร ก็เลยพลาดอีก ฝรั่งใช้ระบบแข่งขันมาเป็นตัวบีบ โดยระบบแข่งขันมากับระบบตัวใครตัวมัน ถ้าไม่ดิ้นรนด้วยตัวเองก็จะอยู่ไม่รอด หวังพึ่งพาใครอื่นไม่ได้ จึงเฉื่อยชาไม่ได้ แต่สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ มีการช่วยเหลืออุปถัมภ์กัน ซึ่งมีจุดอ่อนที่ทำให้คนไม่พัฒนา คอยหวังแต่พึ่งพาและเฉื่อยชา หลักความไม่ประมาทจึงสำคัญมากสำหรับสังคมไทย เพราะสังคมไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ประมาท สังคมฝรั่งมีเครื่องช่วยอยู่แล้ว คือ ระบบแข่งขัน และลัทธิตัวใครตัวมัน ประมาทไม่ได้ แต่นี้ก็มิใช่ความไม่ประมาทที่แท้ หากแต่เป็นความไม่ประมาทที่เกิดจากความบีบคั้น ไม่ใช่เกิดจากปัญญาหรือสติที่แท้จริง (พระพรหมคุณาภรณ์, 2544)
ดังนั้น การมุ่งเน้นที่ GNH โดยละเลย GDP จึงอาจนำไปสู่สภาพที่เรียกว่า “สุขแต่เฉื่อย” ในทางตรงข้ามการเพ่งเล็งเฉพาะ GDP โดยละเลย GNH ก็นำไปสู่สภาพที่เรียกว่า “เหนื่อยแต่ทุกข์” ดังที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งแม้จะมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง ผู้คนกระตือรือร้น ขวนขวายสร้างผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างเป็นเลิศ แต่ก็หาความสุขไม่ได้ กลับต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความสุขอีกต่อหนึ่ง
ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของการใช้ GDP หรือ GNH เป็นดัชนีชี้วัด คือ ค่าของสิ่งที่วัดนั้น คำนึงถึงแต่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ หรือปริมาณของความสุข ที่สื่อว่ายิ่งมีมากยิ่งดี แต่มิได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยนำเข้า และปัจจัยส่งออกในส่วนที่เป็นของเสียมากนัก ซึ่งในสภาวการณ์ปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งผลผลิตสูงสุด ตามเกณฑ์ GDP โดยไม่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากปัจจัยส่งออกที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น มิใช่หนทางที่ควรจะเป็นฉันใด การได้มาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจสูงสุด ตามเกณฑ์ GNH โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ (Function) ในการผลิต และไม่คำนึงถึงของเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะของเสียที่เป็นความสุขพอกเสริมจากความต้องการแบบตัณหา ก็มิใช่ทางเลือกที่ควรจะเป็นฉันนั้น
ถึงตรงนี้ ผู้ที่สนับสนุนเกณฑ์ GNH อาจโต้แย้งว่า ความสุขตามความหมายในเกณฑ์ GNH มิได้หมายถึงเพียงความสุขหรือความพึงพอใจที่เป็นปัจจัยส่งออกจากกระบวนการบริโภคตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แต่เพียงประการเดียว แต่ยังรวมถึง “ความสุขจากการทำงาน” ของมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตหรือเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตด้วย ต่อประเด็นนี้ สามารถอธิบายได้ว่า กระบวนการผลิตในที่นี้ มีปัจจัยส่งออกเป็นความสุขด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็คือ กระบวนการบริโภคในรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ปัจจัยนำเข้าแทนที่จะเป็นสินค้าและบริการก็กลายเป็นงานที่ทำนั่นเอง
ประเด็นของความสุขที่เกิดจากการทำงานนี้ หากมีสมมุติฐานว่าความสุขที่ได้รับขึ้นอยู่กับปริมาณของสินค้าและบริการ ความสุขในกรณีนี้ จึงเกิดจากการทำงานมากๆ เพื่อให้ได้ความสุขมากๆ เรียกว่า “สุขจากบ้างาน” แต่หากมีสมมุติฐานว่าความสุขมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสินค้าและบริการ ความสุขในกรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำงานมากๆ ความสุขกับปริมาณงานที่ทำจึงไม่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง และหากความสุขที่ได้รับมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าของงานที่ทำ ความสุขในกรณีนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ในการผลิต ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตหรือเป็นเจ้าของกระบวนการผลิต ที่ต้องสร้างให้เกิดคุณค่าในผลผลิต ทำให้ความสุขและผลผลิตจำต้องถูกพิจารณาควบคู่กันไปอยู่ดี ไม่อาจละทิ้งอันหนึ่งอันใดได้เลย
ดัชนีที่เหมาะสมและน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องสามารถแก้ไขข้อจำกัดของการวัดในเชิงปริมาณ (Volume) ของผลิตภัณฑ์และความสุขมวลรวม ให้เป็นการวัดในเชิงเปรียบเทียบ (Comparative) กับทั้งปัจจัยนำเข้าและปัจจัยส่งออกในส่วนที่เป็นของเสีย ซึ่งจัดเป็นตัวชี้วัดด้านความพอประมาณ รวมทั้งคำนึงถึงการวัดคุณค่าของทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และปัจจัยส่งออกในเชิงสัมบูรณ์ (Absolute) ซึ่งจัดเป็นตัวชี้วัดด้านความมีเหตุผล ตลอดจนการวัดในเชิงสัมพัทธ์ (Relative) ระหว่างสัดส่วนการผลิตและสัดส่วนการบริโภค ซึ่งจัดเป็นตัวชี้วัดด้านการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
[Original Link]
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
<< กลับสู่รายการคำถาม
หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์